Cottonwool Hair Clinic

การปลูกผมถาวรถือเป็นการผ่าตัดศัลยกรรมเล็กชนิดหนึ่ง การดูแลและเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดถือเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ โดยหนึ่งในการเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดคือการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ โดยในครั้งนี้จะอธิบายถึงความสำคัญและชนิดการตรวจต่างๆ ที่ควรตรวจก่อนผ่าตัดปลูกผมถาวรครับ

1. การตรวจเลือดก่อนปลูกผมเพื่อหาเชื้อ HIV
       เชื้อ HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อที่ติดต่อกันผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือ ของเหลวของร่างกาย โดยเชื้อจะเข้าไปในร่างกายและโจมตีเม็ดเลือดขาว ในระยะยาวเชื้อจะทำให้ภูมิคุ้มกันแย่ลง และอาจนำไปถึงโรคเอดส์ (AIDS – acquired immune deficiency syndrome) ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีโอกาสที่จะติดเชื้อชนิดอื่นได้
       การผ่าตัดปลูกผมในผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อทั้งสู่ทีมแพทย์และเคสอื่นที่ปลูกในสถานพยาบาลเดียวกัน อีกทั้งผู้ที่ติดเชื้อ HIV ควรมีการเตรียมพร้อมของร่างกายก่อนทำหัตถการผ่าตัดมากกว่าผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ ภายหลังจากการทำศัลยกรรม

2. การตรวจเลือดก่อนผลูกผมเพื่อหาเชื้อ Hepatitis B and C Virus
       เชื้อ Hepatitis B และ Hepatitis C มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ไวรัสตับอักเสบ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งเช่น เลือด เช่นเดียวกัน โดยการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ เชื้อจะเข้าไปที่ตับ และนำไปสู่การเกิดมะเร็งตับได้ในอนาคต
       เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ได้รับในช่วงวัยเด็กทารก แต่เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี นั้น ยังไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง รวมถึงยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
       การผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีเชื้อชนิดนี้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทีมแพทย์และเคสอื่นในสถานพยาบาลเดียวกัน

3. การตรวจก่อนการปลูกผมเพื่อหาเชื้อ COVID-19
       การตรวจอีกชนิดที่เลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบันคือการตรวจหาเชื้อ Coronavirus ที่เป็นสาเหตุของ COVID-19 ถึงแม้การตรวจนี้จะไม่ใช่การตรวจเลือดก็ตาม โดยการตรวจหา COVID-19 จะทำโดยการตรวจหาเชื้อบริเวณเยื่อโพรงจมูกหรือ nasopharynx ซึ่งเป็นจุดที่มีการรวมตัวของเชื้อมากที่สุด

สรุปแล้วก่อนเข้ารับการผ่าตัดปลูกผมถาวรไม่ว่าจะเป็นเทคนิค FUE Micrograft หรือ DHI ผู้รับบริการจะต้องมีการตรวจสุขภาพและ ถูกสอบถามประวัติเพิ่มเติมอย่างละเอียดก่อนเสมอ ว่ามีโรคประจำตัวหรือมีการรับประทานยาอะไรเป็นประจำอยู่หรือไม่ รวมถึงประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร ผู้เข้ารับบริการจำเป็นจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เพื่อการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่ถูกต้องและปลอดภัยของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ