สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาผมร่วงผมบาง หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ฮอร์โมน DHT นั้น เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดผมร่วงผมบางในผู้ชาย แต่รู้กันมั้ยว่าฮอร์โมน DHT นั้นจริงๆ แล้วมันคืออะไร มีหน้าที่อย่างไรในร่างกายของเรา แล้วทำไมฮอร์โมน DHT ถึงทำให้ผมร่วงผมบางขึ้นได้ วันนี้คุณหมอมีคำตอบมาฝากทุกคน พร้อมทั้งวิธีลดปริมาณฮอร์โมน DHT ที่จะช่วยทำให้เส้นผมของเราปลอดภัยจากภาวะผมร่วงผมบางได้อย่างตรงจุด
ฮอร์โมน DHT คืออะไร
ฮอร์โมน DHT หรือ ดีไฮโดรเทสโทสเทอโรน (Dihydrotestosterone) เป็นฮอร์โมนเพศชายที่สำคัญตัวหนึ่ง เกิดจากการที่ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ในร่างกาย ทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ 5-alpha reductase (5-AR) ให้เปลี่ยนเป็นฮอร์โมน DHT ซึ่งฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาลักษณะทางเพศของผู้ชาย อาทิ ขนตามร่างกาย การเจริญขององคชาติและถุงอัณฑะ เป็นต้น
หน้าที่ของ DHT
แม้จะเป็นฮอร์โมนเพศเหมือนกัน แต่ฮอร์โมน DHT นั้นจะเน้นไปที่เรื่องของเส้นผมและขนตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายมากกว่า อย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือการที่ DHT ทำให้เกิดผมร่วงผมบาง แต่ก็ยังมีหน้าที่สร้างขนทั่วร่างกายของเราด้วย เช่น ขนบนใบหน้า ขนในที่ลับ เป็นต้น นอกจากเรื่องของผมและขนแล้ว DHT ก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก กล่าวคือมีส่วนช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ รวมถึงมีการทำให้สรีระมีการแสดงออกถึงลักษณะทางเพศอย่างเหมาะสม ทั้งยังมีผลต่อการสะสมไขมันในร่างกาย และช่วยในเรื่องของการเสริมสร้างกล้ามเนื้ออีกด้วย
ปัญหาผมร่วงในผู้ชายที่พบเจอส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นมาจากฮอร์โมน DHT ตัวนี้ ถ้าเรามีกรรมพันธุ์ศีรษะล้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฮอร์โมน DHT ก็จะทำหน้าที่เข้าไปเป็นปัจจัยทำให้ภาวะผมร่วงผมบางเกิดชัดขึ้น ซึ่งหลักการที่ทำให้เกิดผมบางนั้น เกิดขึ้นจากการที่ DHT เข้าไปออกฤทธิ์ต่อตัวรับแอนโดรเจน (Androgen receptor) ที่อยู่ตรงบริเวณรากผม ทำให้วงจรชีวิตของเส้นผมเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เส้นผมจะมีระยะเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2-6 ปี ก่อนจะเข้าสู่ระยะพักเป็นเวลา 1-4 เดือน แต่เมื่อได้รับอิทธิพลของ DHT ก็จะทำให้เส้นผมมีระยะเจริญเติบโตที่สั้นลง มีระยะพักที่นานขึ้นและนานขึ้นแบบนี้ต่อไป จนทำให้รากผมสร้างเส้นผมได้สั้นลง เส้นเล็กลงเรื่อยๆ จนเมื่อรากผมไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่ได้อีกต่อไป รากผมก็จะฝ่อตัวลงในที่สุด จนกลายเป็นสาเหตุของปัญหาศีรษะล้านนั่นเอง