1. การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatment)
วิธีกำจัดสิวหินด้วยเลเซอร์ จะนิยมใช้เลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวลอก (Ablative Laser Resurfacing) และเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวลอกเฉพาะส่วน (Fractionated Laser) อย่าง CO2 Laser และ Erbium: YAG laser
ผู้เข้ารับการรักษาที่มีผิวสีเข้ม จะเสี่ยงเป็นแผลเป็นได้มากกว่าผู้ที่มีผิวสีอ่อน ก่อนการรักษา แพทย์จะให้ลองรักษาในจุดเล็กๆก่อนเพื่อดูว่าเป็นแผลเป็นหรือไม่ หรือเป็นในปริมาณที่รับได้ไหม ถ้าอยู่ในระดับที่พึงพอใจจะทำต่อ จึงค่อยรักษาในบริเวณที่เหลือต่อไป
ซึ่งเลเซอร์ที่นิยมใช้รักษาสิวหินสำหรับผู้เข้ารับการรักษาที่มีผิวสีเข้ม จะนิยมใช้ Erbium: YAG laser เนื่องจากมีความเสี่ยงการเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าเมื่อใช้รักษากับผู้ที่ผิวสีเข้ม
การรักษาครั้งหนึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวเพื่อเห็นผลลัพธ์การรักษาประมาณ 5 – 14 วัน สำหรับผู้ที่ผิวเข้มหลังการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะการสร้างเม็ดสีมากหรือน้อยกว่าปกติ (hyperpigmentation or hypopigmentation) ชั่วคราว ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าการสร้างเม็ดสีจะกลับมาเป็นปกติ
ทั้งนี้ วิธีรักษาสิวหินใต้ตาและพื้นที่อื่นๆ ด้วยการทำเลเซอร์ เป็นวิธีการรักษาที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเห็นผลชัดเจน โอกาสเกิดแผลเป็นและการติดเชื้อหลังการรักษาน้อยกว่าวิธีอื่นๆ
2. การรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery)
เมื่อใช้ไฟฟ้าจี้สิวหิน ความร้อนจากไฟฟ้าจะไปทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติอย่างสิวหิน และทำลายเส้นเลือดในก้อนเนื้องอกให้สิวหินฝ่อไป ทำแค่ครั้งเดียวก็สามารถหายได้ มีความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นเช่นกัน แต่โอกาสการเกิดค่อนข้างน้อยเหมือนกับการทำเลเซอร์
3. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Excision)
การรักษาสิวหินด้วยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกสิวหินออก ใช้ในกรณีที่เป็นสิวหินขนาดใหญ่หรือไม่สามารถใช้วิธีอื่นๆ ได้เท่านั้น ไม่นิยมใช้ในกรณีการรักษาทั่วไป เพราะแม้จะสามารถนำสิวหินออกจากผิวหนังได้หมด แต่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดแผลเป็นสูงกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย
วิธีการรักษาสิวหินวิธีอื่นๆ เช่น Cryotherapy การใช้ความเย็นจี้, Dermabrasion การขัดผิว, และ Chemical peels การใช้สารเคมีลอกผิว ก็มีทำเช่นกัน แต่ไม่นิยมใช้รักษาสิวหินมากนัก เนื่องจากมีความเสี่ยงการเกิดแผลเป็นมากกว่าวิธีการใช้เลเซอร์และการจี้ด้วยไฟฟ้า
ทั้งนี้ หลังการรักษาทุกวิธี สิวหินมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ทั้งหมด
เมื่อต้องการรักษาสิวหิน ควรเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาไม่สามารถทำเองได้ที่บ้าน ต้องรักษาโดยการทำหัตถการ ซึ่งแต่ละกรณีก็มีหัตถการที่เหมาะสมแตกต่างกันไป ควรให้แพทย์ผิวหนังเป็นผู้แนะนำจะดีที่สุด